ทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกธุรกิจในปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุคการค้าเสรี การแข่งขันทางการค้ามีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ การพัฒนาองค์กรในทุกด้านเพื่อให้มีศักยภาพสอดคล้องตาม มาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่สำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกระบวนการผลิต คือ การสอบเทียบ (calibration) เครื่องมือนั่นเอง
การสอบเทียบเป็นกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ และเป็นกระบวนการหนึ่งในระบบมาตรวิทยา (metrology) ซึ่ง International Organization for Standardzation ได้ให้คำนิยามไว้ใน VIM 6.13 ว่า Set of operation that establish, under specifled conditions, the relationship between values of quantities indicated by a measuring instrument or measuring system, or values represented by a material measure or a reference material, and the corresponding values realized by standards.
เครื่องมือถูกนำไปใช้งานระยะหนึ่ง อายุของส่วนประกอบและเครื่องมือวัดที่ใช้งาน อาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงหรือความคลาดเคลื่อนของผลการวัดที่เกิดขึ้นนี้ อาจเกิดจากการ Drift หรือการลอยเลื่อน (มอก. 235 เล่ม 14) หมายถึง การแปรผันอย่างช้า ๆ ตามเวลาของลักษณะทางมาตรวิทยาของเครื่องมือวัด อันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เช่น อุณหภูมิ ไฟฟ้า เคมี หรือช่างกล เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ใช้งานเครื่องมือวัดจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การเสื่อมสภาพของเครื่องมือวัด ยังสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการใช้งานและการเก็บรักษาอีกด้วย ฉะนั้น เมื่อเครื่องมือวัดอยู่ในสภาวะดังกล่าว สิ่งที่ตามมาคือเครื่องมือวัดที่เคยบอกค่าการวัดที่ถูกต้อง อาจบอกค่าที่คลาดเคลื่อนไปจากเดิม ส่งผลให้ผลการวัดที่ได้รับไม่น่าเชื่อถือ หรือหากนำเครื่องมือดังกล่าวไปใช้งานย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพของ การออกแบบและกระบวนการผลิต การ Drift หรือการเปลี่ยนแปลงของเครื่องมือวัด ไม่สามารถกำจัดได้ แต่สามารถที่จะตรวจพบและแก้ไขได้โดยผ่านกระบวนการสอบเทียบ ด้วยการใช้ตัวมาตรฐานการวัดที่สามารถสอบกลับได้สู่มาตรฐานแห่งชาติเพื่อสอบเทียบเครื่องมือวัด
ดังนั้น การสอบเทียบจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่ช่วยสร้างความมั่นใจในผลการวัดของเครื่องมือวัดทุก ๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือวัดที่ใช้ในกระบวนการผลิต การทดสอบ และการวิเคราะห์ต่าง ๆ เพราะองค์ประกอบ ที่สำคัญที่สุดในการที่จะทำให้ผลการวัดที่เกิดขึ้นเป็นที่เชื่อถือได้ คือการใช้เครื่องมือวัด ที่มีความถูกต้องและแม่นยำ เหมาะสมกับการปฏิบัติงานนั่นเอง
Q & A
ถาม : มีเกณฑ์การแบ่งเครื่องมือวัดอย่างไรว่าเครื่องมือวัดต้องได้รับการสอบเทียบ และเครื่องมือที่ไม่ต้องสอบเทียบ พร้อมทั้งยกตัวอย่าง
ตอบ : เครื่องมือวัดที่ไม่ต้องสอบเทียบได้แก่ เครื่องมือวัดที่ใช้สำหรับแสดงผลหรือแสดงค่าบางประเภทที่ไม่มีความจำเป็นต้องทราบจำนวน หรือปริมาณที่แน่นอน (อีกนัยหนึ่ง คือ เป็นเครื่องมือวัดที่ไม่มีผลต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์ของเรา) เช่น
- โวลท์มิเตอร์ ที่วัดเพื่อต้องการรู้ว่ามีแรงดันไฟฟ้าหรือไม่
- เครื่องวัดสัญญาณ ที่วัดเพื่อต้องการรู้ว่ามีสัญญาณหรือไม่มีสัญญาณ
- เครื่องวัดแสดงการไหล ติดตั้งไว้เพื่อต้องการรู้ว่ามีของเหลวไหลอยู่ในท่อหรือไม่
- เครื่องวัดแรงดัน(Pressure Gauge) ติดตั้งไว้เพื่อแค่ต้องการรู้ว่าในท่อมีแรงดันหรือไม่
ที่กล่าวมานี้ไม่ต้องอยู่ในกระบวนการ Calibration แต่จะต้องอยู่ในกระบวนการตรวจเช็ค และบำรุงรักษาแทน
การพิจารณาเลือกเครื่องมือ Calibration
1. เครื่องมือที่มีผลต่อการวิเคราะห์
2. เครื่องมือที่มีผลต่อคุณภาพ
3. เครื่องมือที่มีผลต่อการตัดสินใจ
4. เครื่องมือที่มีผลกับความปลอดภัย
5. เครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมระบบ
6. เครื่องมือที่สามารถบ่งชี้ค่าการวัดเป็นตัวเลข
เอกสารอ้างอิง
1. international organization for standardzation; International vocabulary of basic and general terms in metrology (VIM). 2nd Switzerland, 1993
2. ISO/IEC 17025 : 1999, General requirement for the callbration and cornpetence testing laboratories.
3. ISO 10012-1:1992 Quality assurance requirement for measuing equipment
4. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม : นิยามศัพท์มาตรวิทยา (มอก. 235 เล่ม 14-2531).