การวัด
การวัด (Measurement) มีประวัติความเป็นมากว่า 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช และได้มีวิวัฒนาการควบคู่มากับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวัฒนธรรมของ
มนุษยชาติอย่างต่อเนื่อง การวัดจึงเป็นพื้นฐานของวิทยาศาตร์ เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารเพื่อบอกขนาด ปริมาณ ตำแหน่ง สภาวะและเวลา เป็นต้น ซึ่งวิชาที่ว่าด้วยศาสตร์แห่งการวัดนี้เรียกชื่อเฉพาะว่า “มาตรวิทยา (Metrology)” จุดมุ่งหมายที่สำคัญของการวัด ได้แก่ การตัดสินปริมาณวัดต่างๆ ด้วยความแม่นยำ (Precision) และถูกต้อง (Accuracy) เพื่อจุดประสงค์หลากหลายด้าน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เพื่อความเป็นธรรมเชิงพาณิชย์ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างที่มีมาตั้งแต่ในอดีตที่ประเทศต่างๆ มีการกำหนดหน่วยวัด มาตราการ ชั่ง ตวง วัด ของตนอยู่ ต่อมาเมื่อมีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น จึงได้กำหนดหน่วยวัดที่เป็นสากลขึ้นใช้ร่วมกัน
ประเทศไทยได้มีการตราพระราชบัญญัติ ชั่ง ตวง วัด ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2466 โดยกำหนดให้ระบบเมตริกเป็นระบบการวัดของประเทศ
มาตรวิทยา จึงถือได้ว่าเป็นตัวแทนของความรู้ในเชิงลึกในการตัดสินสิ่งที่ถูกวัด โดยการนำเอาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และความรู้ในธรรมชาติตลอดจนพฤติกรรมของระบบการวัด มาเป็นเกณฑ์กำหนดผลของการวัด มาตรวิทยาจึงครอบคลุมไปทุกๆ มิติของกิจกรรมทางวิทยาศาตร์ อันได้แก่ การกำหนดหน่วยวัดขึ้นมาจากนิยาม (Definition) หรือ คำจำกัดความของแต่ละหน่วยวัด การทำให้นิยามเหล่านี้เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ (Realisation) รวมไปถึงการสร้างมาตรฐานการวัดขึ้นมาใช้เป็นตัวแทนของหน่วยวัดนั้นๆ (Representation) และสุดท้ายการเชื่อมโยงผลการวัดจากสิ่งที่ถูกต้องไปยังมาตรฐานการวัดเหล่านั้น (Dissemination) ในรูปที่เป็นหลักฐานทางเอกสารที่เรียกกันว่า “การสอบกลับได้ของการวัด (Traceability of Measurement)”